กระทรวงศึกษาธิการจัดทัพขับเคลื่อนพัฒนากลไกการบริหารและการจัดการศึกษาในระดับพื้นที่ภาคเหนือ (จังหวัดลำปาง)

กระทรวงศึกษาธิการจัดทัพขับเคลื่อนพัฒนากลไกการบริหารและการจัดการศึกษาในระดับพื้นที่ภาคเหนือ (จังหวัดลำปาง)

**********************************************

                       นายอรรพล​ สังขวาสี​ ปลัดกระทรวง​ศึกษาธิการ​ กล่าวเปิดงานโครงการส่งเสริมการพัฒนากลไกการบริหารและการจัดการศึกษาในระดับพื้นที่ของกระทรวงศึกษาธิการผ่านคลิปวิดีโอ โดยการจัด​ประชุม​เชิงปฏิบัติการ​เพื่อออกแบบกลไกการบริหารและ​การจัดการศึกษา​ในระดับพื้นที่ของกระทรวงศึกษาธิการ​ในพื้นที่​ภาคเหนือ​ ระหว่าง​วันที่​ 6 – 7 กุมภาพันธ์​ 2566​ ณ​ ห้องประชุม​เวียงแก้ว​ โรงแรมลำปางเวียงทอง​ ตำบลสวนดอก อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง

                      ปลัดกระทรวง​ศึกษาธิการ กล่าวว่า​ ต้องการให้ศึกษาธิการ​ภาคและศึกษา​ธิการจังหวัดเ​ห็นภาพ​บทบาทร่วมกัน โดย​ศึกษา​ธิการ​ภาคเป็นผู้แทนของสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ​ ซึ่ง​จะมีอำนาจหน้าที่เพิ่มเติมอย่างไรที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย​ ส่วนกลาง​จะมอบอำนาจให้ไปดำเนินการขับเคลื่อน​ ในส่วนของศึกษาธิการ​จังหวัดก็เป็นหน่วยงาน​สำคัญที่จะเชื่อมโยงงานด้านการศึกษา​กับผู้ว่าราชการจังหวัด​ ซึ่ง​นโยบายการศึกษาที่ส่วนกลางจัดไว้มีมากมาย​ ทั้งมาจากงานวิจัย จาก​ผู้ทรงคุณวุฒิ​ ผู้เชี่ยวชาญ​ต่าง​ๆ เพื่อขับเคลื่อนให้คนแต่ละภูมิภาคมีคุณภาพตามเป้าหมายอย่างชัดเจน

                       “สิ่งที่เรามาร่วมกันทำในวันนี้​ คือ​ เครื่องมือที่จะขับเคลื่อนการทำงาน​ เรามาวางแผนเรื่องการพัฒนา​กำลังคน​ ซึ่ง​ในเชิงพื้นที่ของภาคเหนือ​ อาชีพสำคัญอันดับ​หนึ่ง​คือเรื่องของการเกษตร​ แต่เราลงทุนการศึกษาด้านการท่องเที่ยวและโรงแรมมากมาย​ ทำให้เด็ก​เรียนจบมาล้นตลาดแรงงาน​ ไม่ตอบ​โจทย์​ความต้องการของพื้นที่​ ซึ่ง​ผลผลิตเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่จะทำให้ GDP เปลี่ยนแปลง​ได้​ ที่ผ่านมาเรามุ่งเน้นแต่ให้ผู้เรียนเรียนจบ​ แต่เราไม่ได้มองเรื่อง GDP ของประเทศ​ ดังนั้น​โจทย์​คือเราจะทำอย่างไรให้กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาในเชิงพื้นที่​ สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่​ และสอดคล้องกับ GDP ของประเทศ​ ตลอดจนทำให้กลไกเกิดเป็นรูปธรรมให้ได้” ปลัดกระทรวง​ศึกษาธิการกล่าว

                         โดยกลไกที่นำมาลงในพื้นที่นี้ เป็นเครื่องมือที่มีแนวปฏิบัติ​อย่าง​เป็น​ขั้นตอน​ เริ่มจากการออกแบบการบริหารร่วมกัน​ แล้วดำเนินการ​ออกแบบระบบทั้งระบบ​ ทุกระดับ​ ทุกประเภท​ จากนั้น​จะ​กำหนดเจ้าภาพร่วมกันว่าหน่วยงานไหน​จะเข้ามาขับเคลื่อนในช่วงใดบ้างในทั้ง 4 ช่วงวัย​ ได้แก่​ ปฐมวัย​ วัยรุ่น/วัยเรียน​ วัยแรงงาน​ และวัยสูงอายุ​ มีการออกแบบระบบงบประมาณ​ การทำแผนพัฒนาการศึกษาร่วมกับจังหวัดให้สอดคล้องกับแผนของจังหวัด​ รวมทั้งมีการออกแบบชุดโครงการสำคัญในระดับภาค​ พร้อมติดตามประเมินผล​ สร้างแรงจูงใจให้สามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                        สำหรับเครื่องมือที่นำมาลงในพื้นที่ 4 ภาค​นั้น ครั้งแรกลงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ​ ซึ่ง​ผู้​ว่าราชการ​จังหวัด​อุดรธานี​ได้เน้นเรื่องของการสร้าง​คนดี​ มีคุณภาพ​ สอดแทรกหลักสูตรเกี่ยวกับหน้าที่พลเมือง​ ศีลธรรม​ และการเรียนประวัติศาสตร์​ ครั้ง​ที่​ 2 ภาคกลาง​ ผู้​ว่าราชการ​จังหวัด​สมุทร​สาคร​ เน้นเรื่องให้มีศูนย์​การเรียนรู้​ชุมชน​มากขึ้น​ ส่วนครั้งนี้พื้นที่ภาคเหนือ​ขึ้นอยู่กับ​ว่าเราจะเสวนาขับเคลื่อนการศึกษาในเรื่องใด​ ทั้งนี้แผนการจัดการศึกษาในพื้นที่ต้องสอดประสานกับแผนของจังหวัด​ เพื่อนำไปสู่​การจัดระบบ​งบประมาณ​ด้วย

*************************************************